ข้ามไปเนื้อหา

บางจาก คอร์ปอเรชั่น

พิกัด: 13°41′19″N 100°35′32″E / 13.6886124°N 100.5921725°E / 13.6886124; 100.5921725
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:BCP
อุตสาหกรรมทรัพยากร
ก่อตั้ง8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 (40 ปี)
สำนักงานใหญ่2098 อาคารเอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงใต้ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลักประสงค์ พูนธเนศ (ประธานกรรมการ)
สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์(รองประธานกรรมการ)
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่)
ผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, การกลั่นน้ำมัน
รายได้เพิ่มขึ้น 385,853 ล้านบาท (2566)
สินทรัพย์340,429 ล้านบาท (2566)
EBITDAเพิ่มขึ้น 41,680 ล้านบาท
เว็บไซต์www.bangchak.co.th

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SET:BCP) เดิมชื่อ บางจากปิโตรเลียม เป็นกลุ่มบริษัทปิโตรเลียมและพลังงานในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ พ.ศ. 2527 และปัจจุบันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดําเนินธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ตลอดจนธุรกิจพลังงานยั่งยืนผ่านบริษัทย่อยต่าง ๆ

ประวัติ

[แก้]

บางจากก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2527 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีมติให้จัดตั้งและจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งบริษัทในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ในชื่อ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักคือดำเนินการกลั่นและผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2536 ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อว่า บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2537

ต่อมากระทรวงการคลัง ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทำให้สิ้นสุดความเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544[1] ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 (11 มกราคม) บางจากฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“เอสโซ่”) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (“ExxonMobil”) ในสัดส่วนร้อยละ 65.99 ซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2566[2]

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 บางจากฯ ดำเนินการชำระราคาซื้อขายหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 65.99 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เสร็จสิ้นโดยเครือข่ายสถานีบริการของเอสโซ่ ผลิตภัณฑ์และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จะเข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์บางจาก ต่อมาจาก กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึงปัจจุบัน

ภาพรวมธุรกิจ - 5 กลุ่มธุรกิจ

[แก้]

บางจากได้ดำเนินกิจการหลักด้วยการประกอบด้วย ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ธุรกิจตลาด ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงได้ขยายกิจการสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันปิโตรเลียม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านนวัตกรรม                  

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน

[แก้]

โรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery มาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง คือโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถผลิตน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลซึ่งเป็นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงได้เป็นส่วนใหญ่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็นน้ำมันที่ได้คุณภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานยูโร 4 ของภาครัฐ [3] มุ่งเน้นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานในกระบวนการผลิต และเพิ่มศักยภาพในการผลิตเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมกับธุรกิจที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทฯ

กลุ่มธุรกิจการตลาด

[แก้]

จัดจำหน่ายผ่านช่องทางไปยังภาคอุตสาหกรรม และค้าปลีกน้ำมันผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ non-oil เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหาร

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว

[แก้]

บริษัทฯ ลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียวผ่านการดำเนินการของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการผลิตไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำและลม

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

[แก้]

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไบโอดีเซล ผ่านบริษัท บีบีจีไอ จำกัด(มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงและธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่

[แก้]

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่าน OKEA ASA และดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับลิเทียม รวมทั้งนวัตกรรมนอกประเทศไทย

สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ

[แก้]

บางจากได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือมีชื่อย่อว่า BiiC โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง Green Ecosystem เพื่อผลักดันนวัตกรรมต่างๆ โดยเน้นด้านพลังงานสีเขียว (Green Energy) และด้านชีวภาพ (Bio-Based) นำมาต่อยอดขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศจากการวิจัยและพัฒนา จัดการเทคโนโลยีและเครือข่าย พร้อมทั้งบ่มเพาะธุรกิจ Startup สนับสนุนเศรษฐกิจยุค 4.0 โดยมุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย

การพัฒนาที่ยั่งยืน/การดำเนินการเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อม

[แก้]
  • กลุ่มบริษัทบางจากได้ประกาศนโยบายเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)และปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)
  • นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
  • ร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium
  • บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI โดยได้รับ S&P Global Sustainability Award 2022 ระดับ Silver Class และได้รับการประเมิน MSCI ESG Rating ระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กรในธุรกิจพลังงานในประเทศไทยที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2561

รายชื่อประธานกรรมการ

[แก้]
  1. เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ (พ.ศ. 2527-2530)
  2. พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ (พ.ศ. 2530-2533)
  3. นาวาอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ (พ.ศ. 2533-2535)
  4. นายอรัญ ธรรมโน (พ.ศ. 2535-2539)
  5. พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ (พ.ศ. 2539-2543)
  6. พลเรือเอก สามภพ อัมระปาล (พ.ศ. 2544-2548)
  7. พลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง (พ.ศ. 2549-2552)
  8. พลเอก ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน (พ.ศ. 2552-2555)
  9. นายพิชัย ชุณหวชิร (พ.ศ. 2555-2567)
  10. นายประสงค์ พูนธเนศ (พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

[แก้]
ข้อมูลภาพรวม ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565 ดังนี้ [4]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 240,233,093 17.45%
2 สำนักงานประกันสังคม 198,307,697 14.40%
3 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 136,586,300 9.92%
4 กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 136,586,300 9.92%
5 กระทรวงการคลัง 65,543,767 4.76%

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศนายทะเบียน เรื่อง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สิ้นสภาพ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-01-12.
  2. "การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-08-23. สืบค้นเมื่อ 2023-08-23.
  3. "ภาพรวมธุรกิจของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-08. สืบค้นเมื่อ 2023-03-08.
  4. BCP - บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°41′19″N 100°35′32″E / 13.6886124°N 100.5921725°E / 13.6886124; 100.5921725